ของเล่นเด็กและพัฒนาการ

การเล่นเพื่อช่วยเสริมพัฒนาการ
“ช่วง 0-18 เดือน เรียกว่าวัยทารก เป็นวัยที่เด็กเรียนรู้และสำรวจโลก การพัฒนาเด็กจะต้องให้เขาได้พัฒนาระบบประสาทสัมผัสทั้ง 5 และการเคลื่อนไหว ตัวอย่างเช่น ในช่วง 9 เดือน เด็กจะเริ่มเข้าใจว่าสิ่งของต่างๆ ยังคงมีอยู่แม้ว่าจะหายไปจากที่เขาเห็น เช่น เมื่อเรายื่นตุ๊กตาให้เขาพอเขาจะเอื้อมมาหยิบ เรารีบเอาผ้าอ้อมปิดไว้ เขาจะดึงผ้าขึ้นเพื่อค้นหาตุ๊กตา วัยนี้จึงชอบเล่นจ๊ะเอ๋ เมื่อถึงช่วง 10-12 เดือน กล้ามเนื้อมือของเด็กจะดีขึ้น เราก็ลองให้เด็กเริ่มเอาของชิ้นเล็กใส่ถ้วย ใส่กล่อง หัดเทของออก แล้วเก็บเข้าใส่กระป๋อง …จากนั้นพอ 18 เดือนจึงค่อยเริ่มสอนให้เขารู้จักอวัยวะ สัตว์ต่างๆ ดูภาพในลำดับที่ยากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเด็กเติบโตขึ้นก็จะมีจิตนาการมากขึ้น เขาอาจจะเล่นทำครัวขายของ เลี้ยงน้องตุ๊กตา พ่อแม่เป็นผู้ที่มีบาบาทสำคัญที่สุดในการเฝ้าสังเกตพัฒนาการของลูก โดยควรศึกษาหรือหาอ่านเพิ่มเติมจากหนังสือต่างๆ หรือสอบถามแพทย์หรือคุณครู”
“ช่วงเล็กๆ เด็กจะเรียนรู้โดยผ่านระบบประสาทสัมผัสต่างๆ จากของจริง อย่างเช่น เขาจะรู้ว่าวัสดุชิ้นไหนนิ่ม หรือแข็ง การมองเห็นวัตถุต่างๆ การรับกลิ่น รับรสชาติและการฟัง จากทฤษฏีพัฒนาการทางสติปัญญาของเปียเจต์บอกไว้ว่าเด็กจะเรียนรู้โลกโดยผ่านระบบประสาทสัมผัสและการเคลื่อนไหว อย่างช่วงเล็กๆ ที่เด็กเริ่มถีบขาได้แล้ว ถ้าหากเราติดโมบายไว้ให้เขา แล้วเด็กบังเอิญถีบขาไปโดนโมบายแล้วเกิดการเคลื่อนไหว เด็กจะเริ่มเรียนรู้ว่า ถ้าทำอย่างนี้โมบายจะแกว่งไปมา เด็กก็จะถีบขาเพื่อให้มันแกว่งเกิดการเรียนรู้ไปโดยปริยาย”
การเล่นเพื่อพฤติกรรมที่เหมาะสม
“นอกจากนี้เด็กยังสามารถแสดงความรู้สึกหรือประสบการณ์ที่เขาได้ผ่านการเล่น อย่างถ้าเขาอยู่โรงเรียนต้องฟังครูสอน พอกลับมาบ้านเขาอาจจะทำทีท่าเป็นครูสอนตุ๊กตาอีกที เป็นการทบทวนประสบการณ์ที่ได้รับมา โดยเด็กจะสลับบทบาทด้วยการทำตัวเป็นครูสอนเองบ้าง พ่อแม่ก็จะสามารถรู้ได้ถึงสิ่งที่เด็กต้องประสบพบเจอมาได้จากการเล่นของเขา” พญ. นลินี กล่าว
เล่นอย่างไรเมื่อลูกน้อยไม่สบาย
“ความเจ็บป่วยถือเป็นความเครียดอย่างหนึ่งของเด็กถ้าหากพ่อแม่บังคับให้เขาหยุดเล่นอีก เขาก็จะรู้สึกเครียดเพิ่มขึ้นไปอีก ดังนั้นทางที่ดีที่สุดพ่อแม่ก็ควรจะปล่อยให้ลูกได้มีโอกาสเล่นอย่างเหมาะสมกับสภาพร่างกายและจิตใจของเขาในขณะนั้น อย่างเวลาที่พาไปหาหมอที่โรงพยาบาลก็จะมีพื้นที่สำหรับให้เด็กเล่นก็ควรจะให้เขาได้เล่นแม้แต่เด็กที่ป่วยมากจนจำเป็นต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลก็ควรจะมีโอกาสได้เล่น เพราะการที่เด็กต้องย้ายที่มานอนค้างที่โรงพยาบาล ซึ่งเป็นสถานที่ที่ไม่คุ้นเคยและยังรู้สึกหวาดกลัวกับสิ่งต่างๆ ที่ต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นคุณหมอ คุณพยาบาล การฉีดยา ให้น้ำเกลือ หากเขามีโอกาสได้เล่นก็จะทำให้เด็กสามารถระบายความรู้สึก ลดความตึงเครียดออกไปได้ รวมทั้งยังได้ปฏิบัติในสิ่งคุ้นเคยที่ปฏิบัติอยู่ทุกวัน นั่นคือ การเล่น” พญ. นลินี ทิ้งท้าย
อันตรายที่เกิดจากการเล่น
ของเล่นที่อาจมีอันตราย
อ่านฉลากให้ละเอียดก่อนเลือกของเล่นให้ลูก
- ลองดูที่กล่องของเล่น จะมีระบุว่าเหมาะกับเด็กวัยใด ควรเลือกให้เหมาะกับลูกเรา หากมีคำเตือนระบุอยู่ต้องอ่านให้ละเอียด
- ดูที่ตัวของเล่นว่ามีความแข็งแรงทนทานหรือไม่ รวมทั้งระวังอย่าให้มีส่วนที่แหลมคมอันอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเด็ก
- ถ้าซื้อตุ๊กตาแบบที่เป็นผ้าเย็บ ต้องตรวจดูการแข็งแรงของการเย็บ อย่าให้มีชิ้นส่วนหลุดลุ่ยออกมา
- ของเล่นที่มีเชือกเป็นส่วนประกอบ ความยาวเชือกไม่ควรยาวกว่ารอบคอเด็ก
ของเล่นเด็กมีมากจะดีหรือ?
7 เรื่องที่แม่ต้องรู้เมื่อซื้อของเล่น
1. เหมาะสมตามวัย ตรงกับวัยหรือพัฒนาการของลูกหรือไม่ การเลือกซื้อของเล่นที่ยากหรือง่ายเกินไปสำหรับเด็ก เด็กจะไม่เล่น ดังนั้น พ่อแม่ต้องเข้าใจว่าลูกมีพัฒนาการอย่างไร และเลือกซื้อของเล่นที่ท้าทายความสามารถเด็กพอสมควร ไม่ควรประหยัด ซื้อของเล่นที่เกินวัยเพื่อหวังว่าเขาจะสามารถใช้ได้จนโต เช่น คุณซื้อภาพจิ๊กซอว์หรือเลโก้สำหรับเด็ก 5 ขวบ ให้เด็ก 3 ขวบ ซึ่งความยากง่ายของการต่อนั้นจะต่างกัน นอกจากเด็กจะทำไม่ได้แล้วเขาอาจเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายและไม่ชอบของเล่นประเภทนี้ไปเลยก็ได้ 2. ความเหมาะสมของวัสดุ วัสดุที่ใช้ในการทำจะต้องปลอดภัยไม่มีสารที่เป็นอันตรายกับเด็ก ไม่มีเหลี่ยมคมทำให้เกิดบาดแผล ต้องเป็นสีที่ไม่อันตราย (non-toxic) เพราะสีบางอย่างอาจผสมสารตะกั่ว สารปรอท หลีกเลี่ยงของเล่นที่มีส่วนแหลมคมที่จะเป็นอันตรายให้กับเด็ก หรือของเล่นที่เป็นวัสดุเล็กๆ สามารถถอดได้ เพราะบางทีอาจจะหลุดเข้าปาก ทำให้เด็กสำลักติดคอ เป็นอันตรายได้เช่นกัน 3. ก่อให้เกิดทักษะในการพัฒนา ถึงแม้ว่าของชิ้นนั้นจะมีความวิเศษสักเพียงใด แต่หากขาดการเล่นด้วยวิธีที่ถูกต้อง ความวิเศษนั้นก็ไม่ส่งผลอะไรกับเด็ก 4. ควรให้เด็กได้เป็นศูนย์กลางของการเล่น ของเล่นที่ดีจะต้องเป็นของเล่นที่เด็กสามารถใช้จิตนาการในการเล่นได้ เด็กเป็นผู้กำหนดบทบาทและวิธีการเล่นด้วยตนเอง แทนการกดปุ่มให้ของเล่นนั้นแล่นไปตามกลไกที่ตั้งไว้ ตัวอย่างของเล่นที่เด็กเป็นศูนย์กลางในการเล่น เช่น บล็อคไม้ เลโก้ 5. เด็กจะต้องเล่นด้วยความสนุกสนาน ตรงกับความพอใจของเด็กพ่อแม่ต้องเข้าใจว่าลูกชอบและสนใจด้านไหน และไม่ควรบังคับให้ลูกเล่นของเล่นที่แม่ซื้อมา โดยที่ลูกไม่อยากเล่น เพราะของเล่นชิ้นนั้นๆ อาจจะไม่เหมาะกับวัยที่จะทำให้สนใจเล่นก็ได้ 6. เกิดความสนใจของเด็กโดยตรง ลูกอาจจะชอบปั้นรูปสัตว์ที่เคยเห็นจากหนังสือ คุณอาจจะพาลูกไปสวนสัตว์เพื่อดูสัตว์จริงๆ 7. ราคาที่เหมาะสม ของเล่นบางชนิดไม่จำเป็นที่จะต้องมีราคาแพงถึงแม้ว่าของเล่นนั้นจะราคาเพียง 10 บาท หรือ 20 บาท แต่มันสามารถที่จะกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจ คุณแม่อาจจะประดิษฐ์ของเล่นขึ้นเอง เช่น นำขวดยาสระผมมาล้างให้สะอาดจากนั้นใส่กรวด เพื่อให้เด็กเขย่าให้เกิดเสียง สำหรับเด็กเล็ก สิ่งเหล่านี้ก็เป็นของเล่นที่ทำให้ลูกสนใจได้ไม่น้อย
[ ที่มา.. นิตยสารบันทึกคุณแม่ No.155 June 2006]